มะเร็งปากมดลูก รู้เท่าทันสู่นโยบาย (ไทยโพสต์)
โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของโลก เพราะเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ ของสตรีรองจากโรคมะเร็งเต้านม และถึงแม้ว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ แต่การดำเนินการป้องกันยังไม่สามารถทำให้อัตราการเกิดโรคมีแนวโน้มลดลงได้
ดังนั้นคณะกรรมาธิการสาธารณสุข วุฒิสภา คณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหาสุขภาพของคนไทยและปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ จัดงานเสวนา "มะเร็งปากมดลูก : รู้เท่าทัน ผลักดันสู่นโยบาย" เพื่อร่วมกันกำหนดนโยบายที่เหมาะสม ในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐบาลต่อไป
ศาสตราจารย์นายแพทย์จตุพล ศรีสมบูรณ์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สถานการณ์ภาพรวมของมะเร็งปากมดลูกในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยในแต่ละปีนั้นมีจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ 10,000 คน หรือคิดเป็นผู้เสียชีวิตวันละประมาณ 27 คน และหากคิดรวมจำนวนผู้เสียชีวิตต่อปีจะมีประมาณปีละ 5,000 คน หรือคิดเป็นผู้เสียชีวิตวันละ 15 คน และในปี 2555 คาดว่าจะมีผู้ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกวันละ 32 คน และเสียชีวิตวันละ 17 คน ซึ่งในปัจจุบันจังหวัดที่พบผู้ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกอันดับหนึ่งได้แก่ จังหวัดระยอง อันดับสองคือจังหวัดชลบุรี อับดับสามคือจังหวัดเชียงใหม่ สำหรับอายุของผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก ร้อยละ 80% มีอายุต่ำกว่า 60 ปี
สำหรับผลกระทบที่เกิดจากโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น
1.เมื่อผู้หญิงป่วยเป็นโรคมะเร็งปากมดลูก จะทำให้ครอบครัวขาดรายได้ รวมถึงขาดผู้นำในครอบครัวหรือองค์กร
2.ทำให้รัฐบาลเสียงบประมาณในการรักษา
3.แพทย์ผู้รักษาเสียเวลาในการรักษา 5 ปี
4.โรคมะเร็งส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจ
5.ขาดความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว เพราะฝ่ายชายอาจนอกใจภรรยาได้
ศาสตราจารย์นายแพทย์จตุพลกล่าวอีกว่า หากต้องการผลักดันโรคมะเร็งปากมดลูกไปสู่นโยบายนั้น อันดับแรกควรมีการรณรงค์ให้ผู้หญิงไทยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ และต่อเนื่องตลอดระยะเวลา 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นการตรวจคัดกรองในรูปแบบของ Pap smear (การเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกไปตรวจ) หรือการตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุผิวปากมดลูก โดยการใช้น้ำส้มสายชู หรือวิธี VIA ตลอดจนการฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ที่เป็นต้นเหตุของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก ซึ่งทั้งสองวิธีที่กล่าวมานี้ เชื่อว่าจะสามารถป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ หากได้รับการสนับสนุนและร่วมมืออย่างจริงจังจากกลุ่มผู้หญิงที่มีอายุระหว่าง 30-60 ปี รวมถึงการรณรงค์จากภาครัฐ
ดร.ภญ.นัยนา ประดิษฐ์สิทธิกร ตัวแทนจากโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) กล่าวว่า สำหรับต้นทุนค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือ ค่าใช้จ่ายในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก ส่วนที่ 2 นั้นเป็นค่าใช้จ่ายในการรักษาโรค พูดง่าย ๆ ว่าค่าใช้จ่ายในการรักษาผู้ที่ป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูกอยู่ที่ประมาณ 3-10 ล้านบาท แต่อย่างไรก็ตาม ถ้าหากเน้นที่การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอนั้น ต้นทุนในการป้องกันรักษาจะอยู่ที่คนละประมาณ 500 บาท และสามารถไปตรวจคัดกรองได้ 7-10 ครั้ง รวมถึงยังช่วยป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก และลดอัตราการเสียชีวิตในผู้หญิง อีกทั้งลดค่ารักษาจำนวนสูงลงได้ และมีความคุ้มค่ามาก
อย่างไรก็ตาม ดร.ภญ.นัยนาได้เสนอแนะว่า การตรวจคัดกรองนั้นเป็นสิ่งที่ทุกคนควรที่จะต้องทำ ควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก HPV ขณะเดียวกัน เรื่องราคาของวัคซีนดังกล่าวก็ควรอยู่ในราคาที่ประชาชนยอมรับได้ คือ ไม่เกินเข็มละ 190 บาท พูดง่าย ๆ ว่าราคาต่อ 1 ครอส (3 เข็ม) นั้นไม่ควรเกิน 600 บาทนั่นเอง ซึ่งมาตรการดังกล่าวต้องผ่านการพิจารณาโดยคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ คณะอนุกรรมการชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. รวมทั้งคณะอนุกรรมการพัฒนาบัญชียาหลักแห่งชาติด้วย อีกทั้งต้องมีการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกให้ได้ 80% หลังการฉีดวัคซีนก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะจะช่วยลดอัตราผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคมะเร็งลงได้มาก
ด้าน น.ส.ณัฐยา บุญภักดี มูลนิธิสร้างความเข้าใจเรื่องสุขภาพผู้หญิง กล่าวว่า ในปัจจุบันผู้หญิงที่อยู่ในเมืองอย่างกรุงเทพมหานคร รวมถึงจังหวัดใกล้เคียงนั้น ให้ความสนใจและหันมาตระหนักเรื่องของมะเร็งปากมดลูกมาก แต่ไม่ค่อยไปตรวจเนื่องจากยังไม่เกิดอาการอะไรขึ้นจึงยังไม่ไปตรวจ ซึ่งการปล่อยอาการของโรคเอาไว้ จะทำให้อาการลุกลามจนไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ขณะเดียวกันเรื่องของช่วงว่างในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารนั้นยังคงมีอยู่
โดยเฉพาะความต้องการในเรื่องของสถานบริการในการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น ควรที่จะเพิ่มจำนวนให้มากกว่านี้ และเข้าถึงได้ง่ายกว่าในปัจจุบัน เช่น มีรถให้บริการตรวจคัดกรองถึงที่โดยไม่ต้องลางานไปตรวจ ขณะเดียวกันการลงไปให้ข้อมูลและความรู้เกี่ยวกับโรคมะเร็งปากมดลูกในชนบทก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เพราะผู้หญิงในชนบทยังขาดความรู้ในเรื่องนี้อยู่มาก
น.ส.ณัฐยา ยังเสนอแนะถึงการผลักดันเรื่องโรคมะเร็งปากมดลูกไปสู่นโยบายที่เป็นรูปธรรมว่า นอกจากนโยบายด้านสาธารณสุขที่กล่าวมาแล้วนั้น ควรทำควบคู่ไปกับ
1.การฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็กที่มีอายุน้อย (10-12 ปี)
2.ในกลุ่มของผู้ที่มีอายุมากขึ้น เช่น 30 ขึ้นไปควรตรวจด้วยวิธี Pap smear หรือวิธี VIA
3.ต้องมีการรณรงค์ให้ไปตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอทุก 3 ปี หรือ 5 ปี
4.นโยบายของการรณรงค์ให้ฉีดวัคซีน HPV ควรทำควบคู่ไปกับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งปากมดลูกด้วย จึงจะทำให้สถานการณ์ของโรคมะเร็งปากมดลูกในหญิงไทยลดลงได้